AI+Business Weekly Update Vol.7/2021
สวัสดีเย็นวันจันทร์ มาอัพเดตข่าวสารวงการเอไอกันเพลิน ๆ กับ #AIBusinessWeeklyUpdate จาก Sertis ดีกว่า
สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวคราวและอัปเดตอะไรในวงการเอไอ เทคโนโลยี และธุรกิจบ้าง เรารวบรวมมาไว้ที่นี่หมดแล้ว เลื่อนอ่านกันได้เลย ไม่รีบอัปเดตระวังจะคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่องนะ!
หากใครมีอัปเดตเจ๋ง ๆ ที่เราเผลอตกหล่นไป หยิบมาแชร์กันในคอมเมนต์ได้เลยนะครับ
ส่งหุ่นยนต์รุ่นใหม่ ไปทดลองอาศัยอยู่นอกโลก

การจะย้ายมนุษยชาติไปอยู่บนดาวดวงอื่นนั้นไม่ใช่จะย้ายกันได้ทันที ต้องมีการส่งตัวแทนไปนำร่องก่อน และตัวแทนที่เราเลือกส่งไปก็คือหุ่นยนต์นั่นเอง กลุ่มนักวิจัยและวิศวกรจากมหาวิทยาลัย Edinburgh Napier ได้สร้างหุ่นยนต์ที่แข็งแรงและปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี เตรียมส่งไปนำร่องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายนอกโลก และยังช่วยกรุยทางให้มนุษย์เราตามไปได้อีกด้วย
ทีมนักวิจัยได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ สร้างหุ่นยนต์กลุ่มหนึ่งจากเครื่องพรินต์สามมิติ หุ่นยนต์จะอยู่รวมกันเหมือนเป็นสังคม และมีความสามารถในการวิวัฒนาการตนเองอัตโนมัติแบบ Autonomous Robot Evolution (ARE) ที่สามารถเรียนรู้สภาพแวดล้อมเพื่อปรับตัวให้ได้เร็วที่สุด หุ่นยนต์เหล่านี้สร้างจากอัลกอริธึมที่ให้หุ่นยนต์แต่ละตัวมีรูปร่างและความสามารถในการเคลื่อนที่ต่างกัน บางตัวอาจเคลื่อนที่ด้วยล้อ ใช้ขา หรืออาจใช้ทั้งสองอย่าง เพื่อเข้าถึงพื้นที่ที่ต่างกัน หุ่นยนต์จะมีสมองที่เป็นตัวกำหนดวิธีการเคลื่อนที่ของตนเองและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมเพื่อปรับตัวได้
และความสามารถอีกอย่างคือการแพร่พันธุ์ได้อัตโนมัติผ่านเครื่องพรินต์สามมิติ หุ่นยนต์ทุกตัวเปรียบเสมือนพ่อกับแม่ในตัวเดียวกัน และจะมีโคลนนิงของตนเองที่จะเกิดมาหลังจากหุ่นยนต์ตัวนั้นวิวัฒนาการเข้ากับสภาพแวดล้อม และตั้งโปรแกรมวิวัฒนาการให้หุ่นยนต์ลูกเรียบร้อย
หน้าที่ของหุ่นยนต์เหล่านี้คือการทำความสะอาดเศษซากนิวเคลียร์ และสร้างระบบนิเวศน์ของหุ่นยนต์ที่จะอยู่อาศัยและทำงานต่อไปบนดาวดวงนั้น ๆ ได้เป็นระยะเวลานานโดยไม่ต้องอาศัยการควบคุมของมนุษย์ เพื่อกรุยทางให้มนุษย์เราตามไปได้ในอนาคต
เครื่องประดับสุดล้ำ เปลี่ยนพลังงานจากร่างกายเป็นแบตเตอรี

หลายคนคงเคยดู The Matrix ภาพยนต์ไซไฟสุดล้ำที่เล่าเรื่องราวของหุ่นยนต์ที่คอยสูบเอาพลังงานของมนุษย์มาใช้ โลกความเป็นจริงของเรากำลังจะเหมือนภาพยนต์มากขึ้นอีกขั้น เมื่อนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ สามารถคิดค้นอุปกรณ์คล้ายเครื่องประดับที่เมื่อสวมใส่แล้วจะดูดเอาพลังงานความร้อนจากร่างกายเราไปแปลงเป็นแบตเตอรีชีวภาพได้สำเร็จ
อุปกรณ์นี้มีตัวฐานทำจากโพลีอะไมน์ (polyamine) ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถสวมใส่เป็นกำไล แหวน หรือสร้อยคอก็ได้ ขอแค่ให้พื้นผิวสัมผัสกับผิวหนังเราก็พอ บนตัวฐานกำไลมีการติดชิปเทอร์โมอิเล็กทริกส์บาง ๆ เรียงต่อกัน โดยใช้โลหะเหลวเป็นตัวเชื่อมต่อกับฐาน รูปร่างของชิปนั้นให้ความรู้สึกทันสมัยและมีสไตล์ เหมือนเครื่องประดับแบบโมเดิร์น จึงสามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้
ชิปนี้จะทำหน้าที่แปลงอุณหภูมิภายในร่างกายเราเป็นไฟฟ้า เช่น เมื่อเราออกกำลังกาย อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นและระบายออกมาทางผิวหนัง แทนที่จะปล่อยพลังงานเหล่านั้นทิ้งไปเฉย ๆ ชิปจะหยิบเอาพลังงานมาแปลงเป็นไฟฟ้าแทน โดยพื้นที่บนผิวของเราทุก 1 ตารางเซนติเมตรสามารถแปลงเป็นพลังงานได้ 1 วอลต์ ถึงแม้ว่าพลังงานไฟฟ้าที่ได้จะไม่มากนัก แต่ก็เพียงพอที่จะชาร์จพลังให้กับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น นาฬิกา หรือฟิตบิทได้
เทคโนโลยีนี้จะทำให้เราสามารถให้พลังงานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าได้เองโดยไม่ต้องใช้แบตเตอรีอีกต่อไป อุปกรณ์นี้ยังใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และให้พลังงานที่สะอาดขึ้นกว่าพลังงานไฟฟ้าทั่วไป ที่สำคัญทีมนักวิจัยยังพยายามพัฒนาให้มีต้นทุนและราคาที่ต่ำที่สุดเพื่อให้ใช้งานได้แพร่หลาย
อย่าตกใจไป นี่ไม่ใช่ความพยายามในการเปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นหุ่นยนต์แต่อย่างใด แต่เป็นการช่วยให้มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากร่างกายตนเองได้เต็มที่มากกว่าเดิมต่างหาก
ที่มา:
-https://www.sciencedaily.com/releases/2021/02/210210142049.htm
ShadowSense เอไอช่วยหุ่นยนต์อ่านเงามนุษย์

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลได้ใช้เอไอมาช่วยในการพัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถตรวจจับท่าทางของมนุษย์ได้จากเงาที่เกิดจากการใช้มือทำท่าทางต่าง ๆ บนตัวหุ่นยนต์ และตอบสนองกับการสื่อสารที่ส่งผ่านท่าทางเหล่านั้นได้ โดยเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า ‘ShadowSense’
เทคโนโลยีนี้ใช้เพียงแค่กล้อง USB ทั่วไปในการตรวจจับภาพเงาจากท่าทางของมือที่กระทบบนตัวหุ่นยนต์เท่านั้น อัลกอริธึมจะเป็นตัววิเคราะห์และแบ่งประเภทท่าทางเพื่อระบุจุดประสงค์ในการสื่อสารของคน ซึ่งจะช่วยให้หุ่นยนต์ตอบสนองได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยไม่ต้องใช้เซนเซอร์ที่มีราคาสูง
ผู้คิดค้นมองว่าการสัมผัสคือหนึ่งในวิธีการสื่อสารที่สำคัญที่สุด แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่ค่อยมีการสื่อสารแบบสัมผัสระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์มากนัก เพราะต้องใช้เซนเซอร์จำนวนมากทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เทคโนโลยีนี้จึงช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
ในการทดลองนี้นักวิจัยใช้วิธีการใส่กล้องไว้ใต้ผิวหนังของหุ่นยนต์อัดลม (Inflatable Robot) และสร้างอัลกอริธึมที่ประกอบไปด้วยรูปภาพของเงาที่เกิดจากท่าทาง 6 ท่าทาง ได้แก่ ท่าแตะด้วยฝ่ามือ ต่อย แตะสองมือ กอด ชี้ และรูปที่ไม่มีการสัมผัสใด ๆ ซึ่งหุ่นยนต์สามารถแยกแยะท่าทางต่าง ๆ ได้แม่นยำถึง 87.5–96 เปอร์เซ็นต์ มากน้อยขึ้นอยู่กับระดับแสง
เป้าหมายหลักของโครงการคือการสร้างหุ่นยนต์นำทางเคลื่อนที่ที่สามารถตอบสนองต่อท่าทางของมนุษย์ได้ เช่น หันหน้ากลับมาหามนุษย์เวลาถูกสะกิด หรือเคลื่อนที่เวลาถูกแตะที่หลัง เป็นต้น
ที่มา: https://thenextweb.com/neural/2021/02/11/ai-robots-detect-human-touch-analyzing-shadows/
บทความโดย: ทีม Sertis