20 ปีผ่านไป ค่ารถโดยสารในกรุงเทพฯ แพงขึ้นแค่ไหน

Sertis
4 min readFeb 16, 2021

--

รถเมล์ รถไฟฟ้า BTS และรถไฟใต้ดิน MRT ถือเป็นพาหนะหลักที่คนไทยใช้เดินทางในกรุงเทพมหานครมามากกว่า 15 ปีแล้ว รถเมล์มีวิ่งครอบคลุมแทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย ราคาไม่แพงมากนัก จะไปไหนก็แค่ขึ้นให้ถูกสาย อาจจะใช้เวลามากน้อยตามการจราจร แต่ยังไงก็ถึงจุดหมายแน่นอน

ต่อมาเมื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีก้าวไกลมากขึ้น ก็เกิดการสร้างรถไฟฟ้า BTS และ รถไฟใต้ดิน MRT มาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน จุดเด่นคือการวิ่งในรางที่หลีกเลี่ยงการจราจรบนท้องถนน เวลาในชีวิตเราจึงไม่ต้องขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของการจราจรอีกต่อไป ทำให้รถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นขนส่งมวลชนหลักสำหรับเหล่าพนักงานออฟฟิศที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ

เราควักเงินจ่ายค่ารถโดยสารเหล่านี้จนชินมือ จนบางครั้งอาจลืมไปแล้วว่ารถเมล์สายเดิม หรือรถไฟฟ้าสถานีเดิมที่เราเคยขึ้นตอนมัธยม 20 ปีผ่านมา ในวันที่เราอยู่ในวัยทำงานแล้ว ราคาค่าโดยสารที่เราต้องจ่ายนั้นปรับขึ้นมามากขนาดไหน

วันนี้ Sertis จึงอยากชวนทุกคนไปขุดดาต้า หาข้อมูลกันว่า 20 ปีที่ผ่านมานี้ค่ารถเมล์ รถไฟฟ้า BTS และรถไฟใต้ดิน MRT เคยมีราคาค่าโดยสารเท่าไหร่ วันนี้ราคาเท่าไหร่ ปรับขึ้นกี่ครั้ง และแพงขึ้นทั้งหมดกี่เปอร์เซ็นต์

รถเมล์ไทยราคาพุ่งไกลกว่า 100 เปอร์เซ็นต์

มาเริ่มกันที่รถเมล์ไทย ซึ่งเราจำกัดช่วงเวลาในการค้นหาข้อมูลไว้ที่ปี 2543 จนถึงปี 2564 ซึ่งก็คือปัจจุบันนั่นเอง โดยแบ่งรถเมล์เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ รถขสมก. ธรรมดา รถปรับอากาศ (สีครีม-น้ำเงิน) และรถปรับอากาศยูโรทู (สีส้ม)

ในปี 2543 รถขสมก. มีราคาค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5 บาท ปรับขึ้นครั้งแรกในปี 2547 โดยปรับขึ้นเป็น 4 บาท (เพิ่มขึ้น 14.3%) ปรับขึ้นอีกครั้งในปี 2548 โดยเพิ่มขึ้นเป็นราคา 6 บาท (เพิ่มขึ้น 50%) และอีกครั้งในปี 2549 โดยปรับเพิ่มอีก 1 บาท เป็นราคา 7 บาท (เพิ่มขึ้น 16.7%) จากนั้นจึงคงค่าโดยสารไว้ที่ราคา 7 บาท จนกระทั่งปี 2562 ได้ปรับขึ้นเป็น 8 บาท (เพิ่มขึ้น 14.3%) และปรับขึ้นอีกครั้งในปี 2563 เป็น 10 บาท (เพิ่มขึ้น 25%)

โดยสรุปแล้ว รถขสมก.เมื่อ 20 ปีที่แล้วมีราคาอยู่ที่ 3.5 บาท และปรับขึ้นจำนวน 5 ครั้งจนในปัจจุบันมีราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 10 บาท โดยรวมแล้วเพิ่มขึ้นถึง 6.5 บาท หรือคิดเป็น 185.7% เลยทีเดียว

ในส่วนของรถปรับอากาศ (สีครีม-น้ำเงิน) จะมีราคาเริ่มต้นที่สูงกว่ารถขสมก. และคิดราคาตามจำนวนป้าย โดยมีราคาเริ่มต้นในปี 2543 อยู่ที่ 8–16 บาท ปรับราคาเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2548 เป็น 10–18 บาท (เพิ่มขึ้น 16.7%) อีกครั้งในปี 2549 โดยปรับราคาเริ่มต้นและสูงสุดขึ้น 1 บาท เป็น 11–19 บาท (เพิ่มขึ้น 7.1%) และใช้อัตราค่าโดยสารราคานั้นต่อเนื่องมาจนปี 2562 จึงปรับราคาเพิ่มขึ้นอีก 1 บาทเป็น 12–20 (เพิ่มขึ้น 6.7%) และครั้งล่าสุดในปี 2563 ที่ผ่านมา โดยปรับราคาขึ้นอีก 1 บาท เป็น 13–21 บาท (เพิ่มขึ้น 6.3%)

ราคาของรถปรับอากาศ (สีครีม-น้ำเงิน) เมื่อ 20 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 8–16 บาท มีการปรับขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง จนปัจจุบันราคาอยู่ที่ 13–21 บาท รวมแล้วเพิ่มขึ้นทั้งหมด 5 บาทในระยะเวลา 20 ปี จึงมีอัตราการเพิ่มอยู่ที่ 41.7% เท่านั้น

รถเมล์รูปแบบสุดท้ายที่เราจะมาขุดดาต้าหาราคากันในวันนี้คือรถปรับอากาศยูโรทู (สีส้ม) โดยเป็นรถเมล์ที่มีอัตราค่าโดยสารสูงที่สุดใน 3 แบบ และคิดราคาตามจำนวนป้ายเช่นเดียวกับรถสีครีม-น้ำเงิน ซึ่งก่อนหน้าปี 2542 รถปรับอากาศยูโรทูใช้วิธีคิดค่าบริการแบบ 12 บาทตลอดสาย แต่ไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องวิธีการเก็บเงินที่ใช้กล่อง Fare Box ให้ผู้โดยสารหยอดเอง จึงเปลี่ยนมาคิดค่าโดยสารตามระยะทางตามแบบรถปรับอากาศอื่น ๆ

ในปี 2543 รถปรับอากาศยูโรทูมีราคาอยู่ที่ 8–18 บาท ปรับขึ้นครั้งแรกในปี 2544 โดยปรับราคาเริ่มต้นขึ้นเป็น 10–18 บาท (เพิ่มขึ้น 7.7%) ครั้งต่อมาในปี 2546 ปรับขึ้น 2 บาทเป็น 12–20 บาท (เพิ่มขึ้น 14.3%) และต่อมาในปี 2548 โดยปรับราคาสูงสุดขึ้นเป็น 12–24 บาท (เพิ่มขึ้น 12.5%) และใช้อัตรานี้มาต่อเนื่องจนมาปรับขึ้นอีกครั้งในปี 2562 เพิ่มขึ้นอีก 1 บาทเป็น 13–25 บาท (เพิ่มขึ้น 5.6%) และครั้งล่าสุดในปี 2563 อีก 1 บาท เป็น 14–26 บาท (เพิ่มขึ้น 5.3%)

จากราคา 8–18 บาทในปีที่แล้ว ผ่านมา 20 ปี ปรับขึ้นทั้งหมด 5 ครั้ง เพิ่มขึ้นราว ๆ 8 บาท จนกลายเป็น 14–26 บาท หรือคิดเป็น 53.8%

จะเห็นว่าราคาอัตราค่าโดยสารรถเมล์ทั้ง 3 แบบไม่ได้มีการปรับขึ้นบ่อยนัก โดยเฉลี่ย 4–5 ครั้งเท่านั้น และมีรูปแบบการปรับขึ้นที่คล้ายกัน โดยปรับขึ้นบ่อยในช่วงปี 2543–2548 คงราคาเดิมไว้และมาเพิ่มอีกครั้งในช่วงปี 2562–2563 จะเห็นว่ารถเมล์ที่มีการปรับราคาขึ้นมากที่สุดคือรถขสมก. แต่อาจจะเนื่องด้วยราคาตั้งต้นที่ต่ำ จึงต้องปรับมากขึ้นตาอัตราเงินเฟ้อ และการเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพ

จากรถเมล์ขสมก. 3.5 บาทในวันนั้นเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาเป็น 10 บาทในวันนี้ ไหนใครว่ามากไปหรือน้อยไปอย่างไรมาแสดงความคิดเห็นกัน

20 ปีผ่านไปกับ BTS คู่ใจ

มาที่รถโดยสารชนิดที่สองกันบ้าง รถโดยสารลอยฟ้าที่เป็นพาหนะประจำของนักเรียนนักศึกษาและพนักงานออฟฟิศ หรือรถไฟฟ้า BTS นั่นเอง สำหรับรถไฟฟ้า BTS เราก็จะเริ่มดูข้อมูลตั้งแต่ปี 2543 หรือ 20 ปีที่แล้วเช่นกัน รถไฟฟ้ามีวิธีการคิดค่าโดยสารแบบคำนวณตามระยะทาง โดยเส้นทางเดินรถของรถไฟฟ้าจะแบ่งเป็นส่วนต่อขยายที่ทยอยต่อเติมเรื่อย ๆ และส่วนสถานีหลักที่เป็นสัมปทานของ BTS หรือที่เรียกกันว่า BTS สายสีเขียว (ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และ สนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน) โดยวันนี้เราจะเน้นไปที่ข้อมูลราคาของส่วนสถานีหลักเท่านั้น เพราะเนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่มีการใช้งานเยอะที่สุด

ในปี 2543 อัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้า BTS อยู่ที่ 10–40 บาท และมีการปรับราคาเริ่มต้นครั้งแรกในปี 2549 เป็น 15–40 (เพิ่มขึ้น 10%) ในปี 2445 จึงมีการปรับราคาสูงสุดขึ้นเป็น 15–42 บาท (เพิ่มขึ้น 3.6%) จากนั้นปรับขึ้นอีกครั้งในปี 2556 เป็น 15–44 บาท (เพิ่มขึ้น 3.5%) อีกครั้งในปี 2561 เป็น 16–44 บาท (เพิ่มขึ้น 1.7%) และปรับขึ้นครั้งล่าสุดในปี 2563 เป็น 15–65 บาท (เพิ่มขึ้น 33.3%) ซึ่งราคาของปี 2563 นี้เป็นการคิดครอบคลุมถึงส่วนต่อขยายด้วย

20 ปีที่ผ่านมารถไฟฟ้า BTS มีการปรับราคาขึ้นทั้งหมด 5 ครั้ง และปรับราคาเพิ่มขึ้นราว ๆ 60% จะว่าไปแล้วถ้านับแค่ราคาส่วนสถานีหลักก็ถือว่าเปลี่ยนไปไม่มากนักนะ

MRT น้องใหม่ อายุน้อยกว่า 4 ปี แต่ปรับราคาแค่รอบเดียว!

สำหรับรถโดยสารแบบสุดท้ายที่เราจะมาคุ้ยดาต้าหาข้อมูลกันในวันนี้ คือรถรุ่นน้องของรถไฟฟ้า BTS ซึ่งก็คือรถไฟใต้ดิน MRT นั่นเอง สำหรับ MRT นั้นเราสามารถย้อนข้อมูลกลับไปได้แค่ 16 ปีเท่านั้น เพราะ MRT เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2547 ถือว่าเป็นรถโดยสารน้องใหม่เลยทีเดียว โดยเราจะเน้นดูข้อมูลส่วนของ MRT สายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นระยะทางช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ และเป็นส่วนเส้นทางสัญจรหลักที่มีผู้ใช้บริการกันเนืองแน่น

รถไฟใต้ดิน MRT นั้นมีการคิดค่าโดยสารตามระยะทางเช่นเดียวกับรถไฟฟ้า BTS ราคาตั้งต้นในปี 2547 ของ MRT นั้นอยู่ที่ 16–42 บาท ซึ่งถือว่าพอ ๆ กับ BTS เลยทีเดียว และ MRT ก็ใช้ราคานี้อย่างต่อเนื่องมาจนปี 2563 จึงเพิ่งจะมีการปรับราคาครั้งแรก โดยปรับราคาเริ่มต้นขึ้น 1 บาทเป็น 17–42 บาท (เพิ่มขึ้น 1.7%) เรียกได้ว่าเป็นการปรับราคาครั้งเดียวเท่านั้นในรอบ 16 ปีที่ดำเนินการมา

20 ปีที่ผ่านมา ค่าครองชีพเปลี่ยนแปลงไปเยอะ แน่นอนว่าอัตราค่าโดยสารของรถสาธารณะต่าง ๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามกันไป

สรุปแล้วรถโดยสารไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ หรือรถไฟฟ้าก็มีการปรับราคากันมาโดยตลอด รถส่วนมากมีการปรับราคารวม ๆ อยู่ที่ 5 ครั้ง มีเพียงรถเมล์ปรับอากาศ (สีครีม-น้ำเงิน) ที่มีการปรับราคาแค่ 4 ครั้ง และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ปรับราคาน้อยที่สุด เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น รถที่มีการปรับราคามากที่สุดคือรถเมล์ขสมก. ที่ปรับขึ้นสูงสุดถึง 185.7% และรถที่ปรับราคาน้อยที่สุดคือรถไฟใต้ดิน MRT ที่ปรับราคาขึ้นเพียงแค่ 1.7% เท่านั้น

หากคิดเปอร์เซ็นต์ของการเพิ่มขึ้นแบบเทียบเฉลี่ยเป็นรายปีนั้น รถเมล์ขสมก. มีการปรับราคาเฉลี่ยรายปีสูงที่สุดอยู่ที่ปีละ 8.07% รองลงมาคือรถไฟฟ้า BTS ซึ่งอยู่ที่ 2.73% และรถปรับอากาศยูโรทู 2.34% อันดับต่อมาคือรถปรับอากาศ (สีครีม-น้ำเงิน) อยู่ที่ 1.98% และอันดับสุดท้ายที่มีค่าเฉลี่ยการปรับขึ้นน้อยที่สุดคือรถไฟใต้ดิน MRT อยู่ที่ 0.10%

20 ปีที่แล้วราคารถเมล์ หรือรถไฟฟ้าในความทรงจำของทุกคนคือเท่าไหร่กันบ้าง ลองหยิบมาแชร์ในคอมเมนต์กันได้เลยนะครับ

บทความโดย: ทีม Sertis

Originally published at https://www.sertiscorp.com/

--

--